ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผวช. คนใหม่ ชู 10 เรื่องเด่นการวิจัยไทย 2564

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติคนใหม่ ชู 10 เรื่องเด่นการวิจัยไทย ปี 2564 จากการขับเคลื่อนและบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมของประเทศให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การวิจัยทางด้านการแพทย์รับมือและป้องกันโควิด-19 การวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมรับมือปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการวิจัยที่มุ่งตอบโจทย์ท้าทายของสังคม
การพัฒนาระบบกลางข้อมูลสารสนเทศด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ตลอดจนการเผยแพร่ผลงานวิจัยสู่สาธารณะ และการมอบรางวัลการวิจัยแห่งชาติ

เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่าสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นหน่วยงานขับเคลื่อนและบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในด้านการวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม การพัฒนาเชิงพื้นที่ การเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและเกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม และสำหรับปี พ.ศ.2564 มี 10 เรื่องเด่นการวิจัยไทย ดังนี้

1) ศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์ และการวิจัยและพัฒนา วช. ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบในส่วนที่เกี่ยวกับนวัตกรรมทางการแพทย์ การวิจัยและการพัฒนา เพื่อสนับสนุนในการแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยใช้ข้อมูลทางวิชาการการวิจัยและนวัตกรรม มีการผลิตข้อมูลและภาพอินโฟกราฟิกสถานการณ์รายวัน ข้อมูลแนะนำประชาชน ข้อมูลวิเคราะห์ทางวิชาการ และรวมรวบรวมผลงานวิจัยและนวัตกรรม COVID-19 เผยแพร่ในสื่อต่าง ๆ

2) ผลงานสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมป้องกันโรคโควิด-19 ที่โดดเด่น อาทิ

“ลักษณะทางพันธุกรรมและการกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในประเทศไทย” ซึ่งเป็นผลงานการพัฒนาการตรวจวินิจฉัยเพื่อให้สามารถจำแนกเชื้อไวรัสโควิด-19 จากผู้ป่วยที่ติดเชื้อ โดยเฉพาะสายพันธุ์ที่พบในประเทศไทยได้อย่างรวดเร็ว

“ปัญญาประดิษฐ์ในการประเมินการใส่หน้ากากอนามัยของประชาชนเพื่อเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19” ซึ่งนำระบบปัญญาประดิษฐ์มาใช้ประมวลผลภาพเคลื่อนไหว ในรูปแบบคลิปวีดิทัศน์ที่ได้จากวงจรปิด เพื่อประเมินการใส่หน้ากากอนามัยของประชาชนที่สัญจรในสถานที่ต่าง ๆ

“เครื่องผลิตละอองไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ นวัตกรรมฆ่าเชื้อในห้องและอุปกรณ์ทางการการแพทย์ เพื่อความปลอดภัยจาก COVID-19”  “ระบบบริการตู้อบฆ่าเชื้อไวรัสแบบไฮบริดควบคุมผ่านอินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่งสำหรับการให้บริการบริเวณสถานที่สาธารณะ”

3) การมอบผลงานสนับสนุนการวิจัย และนวัตกรรมด้านเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบจากการขาดแคลนอุปกรณ์

  • อุปกรณ์หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่ทำจากซิลิโคน ชนิด N99 และหน้ากากป้องกันเชื้อโรคแบบคลุมศีรษะชนิดมีพัดลมพร้อมชุดกรองอากาศ (PAPR) ให้แก่ องค์การเภสัชกรรม และกรุงเทพมหานคร
  • นวัตกรรมเครื่องพ่นละอองนาโนน้ำยาฆ่าเชื้อ แก่ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และนวัตกรรมชุดที่นอนยางพาราเพื่อรับมือกับสถานการณ์ COVID–19 ให้แก่ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงมหาดไทย
  • ชุดหน้ากากป้องกันเชื้อโรคแบบคลุมศีรษะพร้อมชุดกรองอากาศประสิทธิภาพสูง (PAPR) เพื่อรับมือกับสถานการณ์ COVID–19 และ อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลเพื่อรับมือกับสถานการณ์ COVID–19 ให้แก่ เครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร และสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร

4) วิจัยไทยใช้ได้จริง ผลงานวิจัยของนักวิจัยไทย สามารถนำไปใช้ได้จริงจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น ศูนย์ข้อมูลฝุ่น PM 2.5 อย่างครบวงจร, เครื่องมือตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก Dustboy, ธนาคารปูม้าทั่วประเทศ, ระบบแพทย์ทางไกลสำหรับการดูแลรักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในผู้สูงอายุ, การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเพื่อการส่งออก, และเครื่องอบแห้งอินฟราเรดแบบถังหมุนเพื่อการจัดการผลผลิตทางการเกษตร

5) โครงการวิจัยท้าทายไทย การวิจัยมุ่งเป้าขนาดใหญ่เพื่อประชาชน ที่ตอบโจทย์ท้าทายของสังคม อาทิ Zero Waste เป็นโครงการที่อยู่ภายใต้โครงการท้าทายไทย ประเทศไทยไร้ขยะ, ประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ แก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับ และมะเร็งท่อน้ำดีแบบครบวงจร อัตราการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ ลดลงจาก 42.8 % เหลือ 13.4 %, สังคมไทยไร้ความรุนแรง ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาของประเทศ

6) ผลงานวิจัยไทยคว้ารางวัลระดับนานาชาติ ที่สาธารณรัฐเกาหลี ได้รับรางวัลเกียรติยศ (Grand Prize) 1 ผลงาน จากผลงานเรื่อง การพัฒนาเทคโนโลยีความจริงเสมือนผ่านแอปพลิเคชัน เรื่อง นวดแพทย์แผนไทยแบบราชสำนักสำหรับออฟฟิศซินโดรม ของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลเหรียญทอง 2 ผลงาน รางวัลเหรียญเงิน 4 ผลงาน และรางวัลเหรียญทองแดง 2 ผลงาน

7) ข้อมูลสารสนเทศด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ซึ่ง วช. พัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศกลาง ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ระบบเชื่อมโยงข้อมูล วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยได้พัฒนา “ระบบข้อมูลสารสนเทศวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (National Research and Innovation Information System : NRIIS)” เพื่อบริหารภาพรวมของการวิจัยและ โครงการวิจัย นักวิจัย แผนงานวิจัย และโครงสร้างพื้นฐานของระบบวิจัย เพื่อเป็นระบบกลางของประเทศ

8) การเผยแพร่ผลงานวิจัยสู่สาธารณชน โดยการนำเสนอในรูปแบบสารคดีกึ่งวิชาการ ในรูปของ  NRCT News เพื่อเผยแพร่ผ่านสื่อในแขนงต่าง ๆ เพื่อถ่ายทอดและขยายผลงานวิจัยสิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมสู่ผู้ใช้ประโยชน์และสาธารณชน และกิจกรรม NRCT Talk ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อสื่อมวลชนได้ทราบถึงบทบาทของ วช. ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยและนวัตกรรม และจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกเดือน

9) ความร่วมมือด้านการวิจัยกับหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งเน้นผู้ใช้ประโยชน์งานวิจัยตั้งแต่ระดับกระทรวง ทบวง กรม ในการผลักดันงานวิจัยให้เป็นไปตามความต้องการของผู้ใช้ อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงกลาโหม กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กรมควบคุมมลพิษ กรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค การไฟฟ้าฝ่ายผลิต บางจาก

10) การมอบรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ในปี 2564 วช. ได้มอบรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประกอบด้วย รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 7 ท่าน รางวัลผลงานวิจัย จำนวน 42 รางวัล รางวัลวิทยานิพนธ์ และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น จำนวน 56 รางวัล