ม.รังสิต เดินหน้าสร้างความร่วมมือฝึกงานสหกิจ มุ่งสร้างบัณฑิตไทยสไตล์ญี่ปุ่นสู่โลกแห่งการทำงานจริง

​มหาวิทยาลัยรังสิต จัดตั้งฝ่ายญี่ปุ่นสัมพันธ์ เดินหน้าสร้างความร่วมมือด้านการศึกษา เชื่อมโยงนักศึกษาไทย เข้าสู่ระบบการทำงานสไตล์ญี่ปุ่น หวังสร้างคนไทยสไตล์ญี่ปุ่นเพื่อกลับมาพัฒนา และประยุกต์ประสบการณ์ในการฝึกงานสู่ระบบการทำงานจริง

ดร.เชาว์ เต็มรักษ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายญี่ปุ่นสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ดำริของ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยรังสิต ต้องการเน้นย้ำความสัมพันธ์ด้านการศึกษาระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น สิ่งที่มหาวิทยาลัยรังสิตสร้างความร่วมมือไว้ในปัจจุบันนี้ เรามุ่งประโยชน์ที่จะเกิดกับนักศึกษาเป็นหลัก ไม่เพียงการเดินทางเพื่อแลกเปลี่ยนระยะสั้น แต่มหาวิทยาลัยรังสิตมุ่งหวังที่จะผลิตบัณฑิตป้อนสู่อุตสาหกรรมการทำงานในประเทศญี่ปุ่น

​“ฝ่ายญี่ปุ่นสัมพันธ์ เป็นหน่วยงานเชิงรุกที่ทำหน้าที่ตะลุยทุกเส้นทางในประเทศญี่ปุ่น ผมเริ่มต้นจากการทำการบ้านในความร่วมมือที่มีอยู่ก่อนหน้า ซึ่งส่วนมากจะเป็นเงื่อนไขระหว่างมหาวิทยาลัยกับมหาวิทยาลัยเป็นหลัก โจทย์ที่ผมได้รับจะเริ่มขยายฐานความร่วมมือให้เปิดกว้างมากขึ้น แนวคิดของ ดร.อาทิตย์ นั้น ท่านต้องการให้นักศึกษาทุกคนมีโอกาสในการเดินทางไปฝึกงานสหกิจ ทำอย่างไรให้นักศึกษาของเราได้ฝึกงานในระยะเวลาที่มากกว่าหนึ่งภาคการศึกษา คำว่าสหกิจหมายถึงว่าไปฝึกงาน ได้ทำงานในสังคมของการทำงานจริง แผนที่ฝ่ายญี่ปุ่นสัมพันธ์เดินหน้าลุยความร่วมมือนั้น นักศึกษาเรียนฝึกปรือความรู้กันมาในชั้นปีที่ 1 ถึง ชั้นปีที่ 3 และในชั้นปีสุดท้ายก็ได้ร่วมงานกับหน่วยงานที่เราได้สร้างความร่วมมือเอาไว้ ผมเองเปิดประเด็นเรื่องความเชื่อมโยงที่มากไปกว่าระหว่างมหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย การได้ขยายฐานความร่วมมือไปยังบริษัท ผู้ประกอบการ หน่วยงานรัฐบาล ให้นักศึกษาสามารถได้ไปเรียนรู้ในสถานที่เหล่านี้ ก็น่าจะเป็นโอกาสที่เขาได้ใช้ภาษา และได้ฝึกงาน หาประสบการณ์ ที่สาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น วิทยาลัยศิลปศาสตร์ ของเรานั้น มีนักศึกษาจำนวนมาก เมื่อพวกเขาเรียนภาษาญี่ปุ่นแล้ว และตัวนักศึกษาก็ได้เรียนเรื่องราวๆ อื่นๆ ที่เกี่ยวของกับประเทศญี่ปุ่นแล้ว ถ้านักศึกษาทั้งหมดนี้ ได้เดินทางไปญี่ปุ่นทุกคนจะเป็นอย่างไร หากพวกเขาได้ไปทดลองใช้ชีวิตจากสิ่งที่เรียนมา หาความรู้และประสบการณ์เพิ่มเติม ได้ไปเติบโตยังประเทศเจ้าของภาษาที่พวกเขาชอบจะเป็นอย่างไร หลังจากนั้นก็ทำสิ่งที่เรียนรู้ ประสบพบเจอมา กลับมาประยุกต์ใช้กับงานของตนเอง ได้นำแนวคิดกลับมาพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง นี่จึงเป็นเส้นทางที่ผมต้องทำให้มันเกิดขึ้นอย่างจริงจัง แม้กระทั่งการนำพาบุคลากรของประเทศญี่ปุ่น มารู้จักกับมหาวิทยาลัยรังสิต จะร่วมทำวิจัย หรือหารือความร่วมมือในด้านต่างๆ เราก็ต้องทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมโยงให้ทุกอย่างเกิดขึ้น ผมเดินทางตะลุยทุกเส้นทางที่ครอบคลุมตั้งแต่เหนือจรดใต้ ทุกจังหวัดของประเทศญี่ปุ่น”

การเปิดดีลในนามฝ่ายญี่ปุ่นสัมพันธ์ ม.รังสิต

​ความน่าเชื่อถือ และการสร้างความเชื่อมั่น เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องมี ด้วยมหาวิทยาลัยรังสิต มีการติดต่อสื่อสารกับมหาวิทยาลัยหลายแห่งของประเทศญี่ปุ่น ฝ่ายญี่ปุ่นสัมพันธ์จึงเริ่มต้นจากสิ่งนี้

​“การได้พูดคุยกับมหาวิทยาลัยในความร่วมมือ ถามเขา อาจารย์ครับ อย่างนี้รู้จักไหมครับ แบบนี้แนะนำผมได้ไหมครับ เราไปในรูปแบบของการต่อยอด ความสัมพันธ์และความเชื่อมั่นอันดีที่มีต่อกัน สร้างส่วนขยายไปยังความร่วมมืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จริงๆ แล้ว ประเทศญี่ปุ่น เขาต้องการเปิดประเทศอยู่แล้ว ยิ่งในด้านการศึกษา การผลิตบุคลการของประเทศเขานั้น กระบวนการเดียวกันกับทุกที่ในโลกนี้คือเรียนและจบไปเพื่อทำงาน ดังนั้น เรามีความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยแล้ว เราอาศัยเขาแนะนำขยายต่อไปยัง บริษัท สถานประกอบการ โมเดลนี้จะเป็นการขยายและต่อยอดที่สำคัญมากครับ ในพื้นที่ตั้งจริงๆ แล้ว มันเป็นวงจรมีสถานศึกษา มีห้างร้านบริษัท มีหน่วยงานราชการ เช่นเดียวกัน จากรั้วมหาวิทยาลัย เราต่อยอดความสัมพันธ์ไปยังชุมชน ไปบริษัทสถานประกอบการ ไปหน่วยงานราชการ หากเรามองเป็นบุคคลเราต่อยอดจากพูดคุยกับอาจารย์ ไปยังเจ้าของผู้ประกอบการ จากเจ้าหน้าที่รัฐบาล ไปยังระดับผู้บริหารราชการ ญี่ปุ่นสัมพันธ์เราเดินหน้าด้วยโมเดลนี้ เพื่อหาสถานที่ฝึกงานมารองรับนักศึกษาสหกิจในอนาคต แต่เรายังคงให้มหาวิทยาลัยเป็นสื่อกลางให้เรานะครับ เขาก็ตื่นเต้น เหมือนเป็นโปรเจกต์ใหม่ ที่เขาจะได้เชื่อโยงในวงจรของเขาด้วย ทะยอยทำไปในทุกจังหวัดในประเทศญี่ปุ่น เรารู้จักเขา เขาส่งนักศึกษามาดีลกับมหาวิทยาลัยรังสิตของเราด้วย ต่างคนก็ต่างรู้จัก อย่างที่พวกเราก็รู้กันอยู่แล้วว่า ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีระเบียบวินัย ซื่อสัตย์ มีความรับผิดชอบ และเน้นเรื่องการให้เกียรติผู้อื่น ในมุมของนักศึกษาที่จะได้รับ เมื่อเขาได้ไปใช้ชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมดีๆ เขาก็จะซึมซับ นี่คือภาพที่เรามองว่านักศึกษาจะได้ใช้ตรงนี้กลับมาพัฒนาระบบต่างๆ ของประเทศเรา”

ม.รังสิต มุ่งมั่นสร้างนักศึกษาไทย “สไตล์ญี่ปุ่น”

​นักศึกษาอาจจะมีแผนการดำเนินชีวิตที่หลากหลาย เมื่อเรียนภาษาแล้วหลายคนก็อยากไปดำเนินชีวิตยังประเทศเจ้าของภาษา กรณีการฝึกงานสหกิจนี้เองก็เช่นกัน ระยะเวลากว่า 1 ปี แน่นอนว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นต่อตัวนักศึกษา อย่างน้อยเมื่อเราต้องปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมนั้นๆ เป็นช่วงระยะเวลาหนึ่ง เมื่อกลับมาก็ยังคงติดวิถึการใช้ชีวิต หรือแนวคิดในลักษณะนั้นๆ อยู่

​“ผมก็มองว่า 1 ปีที่นักศึกษาไปอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น ทำงาน ใช้ชีวิต ปรับตัวให้เข้ากับสังคมที่ฝึกงาน ที่ทำงาน ระเบียบวินัยเกิด ความรับผิดชอบเกิด การได้เรียนรู้วัฒนธรรม ไลฟ์สไตล์ในแบบคนญี่ปุ่น สิ่งเหล่านั้นจะเกิดขึ้นให้เราได้เห็นแน่นอน ส่งไปสิบคน ร้อยคน เมื่อกลับมาก็น่าจะมีความเปลี่ยนแปลง หรือหากถูกใจ ได้ทำงานต่อเป็นพนักงานต่อ มองแล้วยิ่งเป็นการดีเข้าไปใหญ่ มันเป็นการเติบโตของเขา คำว่า คนไทยสไตล์ญี่ปุ่น เป็นคำคอนเซปต์ ผมมองว่า เราเป็นคนไทย มีความรักในบ้านเกิดเมืองนอน คนไทยที่ไปอยู่ต่างแดน มีความสำนักรักที่อยากจะกลับมาพัฒนาบ้านเกิด ถ้าเป็นคนไทยสไตล์ไทย มาสายกลับก่อน สารพัดที่จะเกิดขึ้น การไม่รักษากฎกติกา ก็จะมีในคาแรกเตอร์นี้ให้เราพอเห็นกัน  แต่สไตล์ญี่ปุ่นที่ผมหมายถึง เด่นๆ มี 3 ประการ ได้แก่ ระเบียบวินัย ความซื่อสัตย์ และการให้เกียรติซึ่งกันและกัน ขยายความอีกนิด ก็จะเป็นคาแรกเตอร์เช่น เราควรมีระเบียบวินัย นั่นหมายถึงมีความรับผิดชอบ มาก่อนหรือตรงต่อเวลา มีความทุ่มเท นี่คืออยู่ในประการแรกนะครับ ส่วนความซื่อสัตย์ ก็ตรงตัวเลยครับ อีกอันนึงเป็นเรื่องของการรู้จักให้เกียรติผู้อื่น เราควรรู้จักการเคารพตัวเอง ดูแลตัวเองให้มีภาพลักษณ์ที่ดี เสื้อผ้า หน้าผม บุคลิกดี เพราะนั่นคือการให้เกียรติผู้อื่นเช่นกัน สมมติว่า ทุกคนมีคาแรกเตอร์แบบนี้ บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น มองว่าหากนักศึกษาเราได้สหกิจ ไปฝึกงาน ไปเรียนรู้การทำงานในชุมชน ในองค์กรตำบล เขามีระบบระเบียบในการบริหารงานชุมชน การจัดการระบบขยะ การดูแลด้านการศึกษา การดูแลระบบผู้สูงอายุ แล้วนำระบบที่ได้เห็นได้เรียนรู้เหล่านี้กลับมาพัฒนาชุมชนบ้านเรา การเปลี่ยนแปลงก็จะเกิดขึ้น นี่เราจึงต้องพึ่งพามหาวิทยาลัย เพื่อเขาเป็นสื่อกลางในการส่งต่อนักศึกษาไปยังที่ฝึกงานดีๆ ที่มีคุณภาพ”