เอส. เค. โพลีเมอร์ จับมือพันธมิตร เปิดโครงการเพิ่มมูลค่ายางพาราไทยสร้างเศรษฐกิจยั่งยืน

เอส.เค. โพลีเมอร์ คลอดโครงการเพิ่มมูลค่ายางพาราไทยผนึกกำลังพันธมิตรชั้นนำและสหกรณ์กองทุนสวนยางโสตประชา หวังช่วยผลักดันศักยภาพเกษตรกรให้ยั่งยืนและแข่งขันในตลาดโลก พร้อมช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจประเทศคาด 2 ปีแรกสร้างเม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 4 ลบ.  

นายสุพจน์  สุวรรณพิมลกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอส. เค. โพลีเมอร์ จำกัด (SKP.) เปิดเผยถึง โครงการเพิ่มมูลค่ายางพาราไทย โดย บริษัท เอส. เค. โพลีเมอร์ จำกัด ในฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยีการผลิตชิ้นส่วนยาง ร่วมกับพันธมิตร 3 องค์กร ได้แก่ กยท. ซึ่งมีพันธกิจหลักในการส่งเสริมการเพิ่มมูลค่ายางพาราไทยให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการแปรรูปยางพารา และสหกรณ์โสตประชา ผู้เป็นสหกรณ์นำร่องที่ได้รับเลือกเป็น   ผู้ขึ้นรูปชิ้นส่วนยาง และ IRPC ในการสนับสนุนวัตถุดิบพลาสติกซึ่งเป็นชิ้นส่วนประกอบของยางกั้นล้อ เริ่มต้นจากสินค้า RUBBER WHEEL STOPPER หรือ ยางกั้นล้อ สำหรับที่จอดรถภายในสถานีบริการน้ำมันได้แก่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จํากัด (มหาชน) ในฐานะผู้ใช้งานผลิตภัณฑ์ โดยได้รับการสนับสนุน

ทั้งนี้ SKP รับหน้าที่เป็นผู้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและควบคุมคุณภาพ รวมถึงการประกันคุณภาพ  จากประสบการณ์กว่า 30 ปี แก่สหกรณ์กองทุนสวนยางโสตประชา ให้มีระบบการผลิตที่เป็นมาตรฐานสากล  มีประสิทธิภาพ ลดความสูญเสียจากของเสียและการชำรุดเสียหายของเครื่องจักรและแม่พิมพ์ เพื่อให้ได้ยางกั้นล้อที่มีคุณภาพและมีต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก พร้อมยังได้ปรับปรุงการออกแบบสินค้าให้มีคุณสมบัติที่ดีขึ้น ในด้านความทนทาน โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้งานในสถานีบริการน้ำมัน ปตท. และมีความคุ้มค่าสำหรับผู้ลงทุน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากฝ่ายวิศวกรรมของ PttOR ตั้งแต่การรวบรวมความต้องการไปถึงจนการติดตั้ง

สำหรับโครงการฯ นี้ยังช่วยลดภาระในการลงทุนของสหกรณ์ เนื่องจากการซื้อเครื่องจักรได้รับการสนับสนุนเงินทุนจาก กยท. และการสร้างโรงงานได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สอดคล้องกับนโยบายเพิ่มความเข้มแข็งแก่เกษตรกรชาวสวนยาง เพิ่มมูลค่าและรักษาเสถียรภาพราคายางพาราไทยอย่างยั่งยืน

“ยางกั้นล้อ หรือ RUBBER WHEEL STOPPER รุ่นนี้ ทางด้านนักออกแบบของ SKP มีการปรับการออกแบบส่วนบนเป็นวัสดุพลาสติกสีเหลืองที่ได้รับจาก IRPC ขึ้นรูปโดย SKP ทำให้มีความทนทาน สวยงาม และปลอดภัยกว่าแท่งปูน รวมถึงยังสามารถลดอันตรายจากการบาดเจ็บ กรณีผู้ที่ใช้งานเดินสะดุด โดยผ่านการทดสอบการชน 100 ครั้ง ด้วยรถยนต์ความเร็ว 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง  โครงการฯ นี้นับเป็นโครงการนำร่องซึ่งคาดว่าในระยะเวลา 2 ปีแรกจะสามารถสร้างเม็ดเงินเริ่มต้นไม่น้อยกว่า 4 ล้านบาท ด้วยความร่วมมือของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  พร้อมจะขยายผลไปติดตั้งใช้งานยังสถานีบริการน้ำมันให้ครอบคลุมทั่วประเทศ” นายสุพจน์  สุวรรณพิมลกุล  กล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ SKP หวังจะเป็นโครงการฯ ที่เชื่อมระหว่างภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมในการร่วมพัฒนาโครงการผลิตภัณฑ์อื่นๆ จากยางพาราไทยที่ตอบโจทย์ความต้องการใช้งานให้ครอบคลุมหลากหลายกลุ่มธุรกิจ  พร้อมกันนี้ยังเป็นการสนับสนุนเกษตรกรที่ปลูกยางพาราให้สามารถพลิกฟื้นขึ้นมาหลังวิกฤตเศรษฐกิจและโควิด  อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับยางพาราไทย เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราไทยอย่างยั่งยืน