โครงการ Thailand Culture 21 Best Practice เลือกเมืองเก่าภูเก็ต และแม่กลองเมืองสามน้ำ เป็น 2 เมืองนำร่อง เตรียมผลักดันสู่เมืองต้นแบบการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยวัฒนธรรมระดับโลก
ย่านเมืองเก่าภูเก็ต และจังหวัดสมุทรสงคราม ได้รับการคัดเลือก จากโครงการ Thailand Culture 21 Best Practice ภายใต้การผลักดันของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรรม พร้อมด้วยเครือข่ายพันธมิตร มหาวิทยาลัยศิลปากร และ Roaming Elephants.com มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาต้นแบบพื้นที่/เมืองแห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยใช้วัฒนธรรมนำเศรษฐกิจของประเทศไทย ตามแนวคิด Agenda 21 for Culture ของสหพันธ์เมืองและรัฐบาลท้องถิ่นระหว่างประเทศ ( United Cities and Local Governments – UCLG )
ทั้งนี้ UCLG เป็นองค์กรเครือข่ายเพื่อขับเคลื่อนทางวัฒนธรรม นำการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในโลก เกิดขึ้นภายใต้มติที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ โดยมีแนวคิดหลักในการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนด้วยวัฒนธรรม ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความร่วมมือ และการพัฒนาระหว่างประเทศโดยหันมาให้ความสำคัญกับมรดก ศิลปะ และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์มากขึ้น
“วัฒนธรรมเป็นหัวใจสำคัญของยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเมือง Urban strategies การส่งเสริมสิทธิมนุษยชน สร้างสังคมแห่งความรู้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตสำหรับทุกคน รวมถึงบทบาทในการสร้างการจ้างงาน และการฟื้นฟูเมืองให้ไม่เกิดการแบ่งแยกทางสังคมด้วยวัฒนธรรมเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดสำคัญของโลกาภิวัตน์ในปัจจุบัน การเจรจาระหว่างวัฒนธรรม และการส่งเสริมความหลากหลายทางวัฒนธรรมเป็นส่วนหนึ่งของมนุษยชาติ” มติที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เมื่อปี 2021 ระบุ
ย่านเมืองทั้งสองจังหวัดได้รับการรับคัดเลือกเพื่อพัฒนาต่อยอดสู่ Thailand Culture 21 Best Practice โดย เมืองเก่าภูเก็ต เป็นเขตเมืองที่รุ่มรวยด้วยมรดกทางภูมิปัญญา และวัฒนธรรม ทั้งอาหาร อาคาร อาภรณ์ ขณะเดียวกันเมืองสมุทรสงคราม ก็เป็นเมืองแห่งความอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ก่อให้เกิดวิถีชีวิต และอาหารท้องถิ่นจากชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ดินดอนปากแม่น้ำ และพื้นที่ภูเขา ทั้งสองเมืองจึงมีมนต์เสน่ห์ทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นหาใครเทียบได้ยาก
นายสมยศ ปาทาน ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ต กล่าวว่า แนวทางของโครงการ Thailand Culture 21 Best Practice ตอบโจทย์วัตถุประสงค์ของชุมชนเป็นอย่างดีในทุกมิติ ในฐานะผู้แทนของวิสาหกิจชุมชนฯ จึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะร่วมเดินทางในการผลักดันพื้นที่ย่านเมืองเก่าภูเก็ตให้เป็นพื้นที่ต้นแบบแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยมิติวัฒนธรรม
ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ต กล่าวด้วยว่า เมืองเก่าภูเก็ตเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายของวัฒนธรรมทั้ง ไทย จีน เปอรานากัน ผู้คนมีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่หลากหลาย แต่อยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว ชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ต เป็นการรวมตัวกันเพื่อวัตถุประสงค์หลักในการรักษาวิถีชีวิต วัฒนธรรม สถาปัตยกรรม อาหารดั้งเดิมของชาวภูเก็ตให้คงอยู่ จึงนับเป็นนิมิตรหมายที่ดี
ด้านนางถิรดา เอกแก้วนำชัย ประธานวิสาหกิจชุมชนบ้านริมคลองโฮมสเตย์ แสดงความขอบคุณกรมส่งเสริมวัฒนธรรม และพันธมิตรที่เห็นความสำคัญ และริเริ่มให้เกิดโครงการฯ นี้ขึ้น โดยเชื่อว่า โครงการฯ นี้จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะเชิดชูวัฒนธรรมท้องถิ่นของเมืองสมุทรสงครามให้คนทั่วโลกได้เห็นในอีกมุมมองหนึ่ง
“พื้นที่เล็ก ๆ แห่งนี้จะได้ปรากฏสู่สายตาของนานาชาติผ่านแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนในมิติวัฒนธรรม” ในฐานะตัวแทนจากชุมชนสมุทรสงคราม กล่าว และว่า สมุทรสงครามเป็นจังหวัดที่เล็กที่สุดในประเทศไทย แต่เรามีทรัพยากรอันเป็นแหล่งกำหนดภูมิปัญญา วัฒนธรรม วิถีชีวิตที่อุดมสมบูรณ์ เช่น มีน้ำ 3 น้ำ คือน้ำเค็ม น้ำจืด และน้ำกร่อย ทำให้สมุทรสงครามมีดินที่อุดมสมบูรณ์เพาะปลูกได้ผลผลิตดีเยี่ยม มีความมั่นคงทางอาหารให้กับคนในท้องถิ่นได้ใช้ประโยชน์ตลอดทั้งปีส่งผลต่อวัฒนธรรมของคนท้องถิ่นทั้งในด้านอาชีพ อาหาร วิถีชีวิตรวมไปถึงประเพณีต่าง ๆ
.
หลังจากนี้ โครงการ Thailand Culture 21 Best Practice จะพัฒนาทั้งสองเมืองด้วยการทำงานแบบบูรณาการกับภาครัฐ เอกชน ชุมชน หน่วยงานท้องถิ่น ทั้งในระดับนโยบาย และระดับปฏิบัติการตามแนวทางของ Culture 21 Plus ที่ประกอบไปด้วย 6 มิติหลัก ได้แก่
1.สิทธิ คือการให้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางวัฒนธรรมของทุกคน 2.ชุมชน คือให้ทุกคนมีความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดี 3.ความมั่งคั่ง คือการใช้วัฒนธรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 4.อาณาบริเวณ คือการมีพื้นที่ในการแสดงออกทางวัฒนธรรมแบบไม่ปิดกั้น 5. ธรรมชาติ คือวัฒนธรรมที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และ 6.การบริหารจัดการ คือการสร้างกลไกการดูแลทุนทางวัฒนธรรมร่วมกัน เพื่อเป็นต้นแบบของประเทศไทย
พร้อมกันนี้จะผลักดันเข้าสู่การประกวดในระดับโลก International Award UCLG – Culture 21 ซึ่งเป็นการมอบรางวัลด้านวัฒนธรรมระดับนานาชาติที่ให้การยกย่องเมือง และบุคคลที่มีความเป็นเลิศในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในวัฒนธรรมในฐานะมิติแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืนในท้องถิ่น ซึ่งโครงการดังกล่าวมีสมาชิกกว่า 240,000 โครงการจาก 140 ประเทศทั่วโลก
สามารถติดตามความคืบหน้าโครงการได้ที่ www.facebook.com/thailandculture21 และ www.thailandculture21.com