“อัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 15” งานจัดแสดงหัตถศิลป์ไทยแห่งปี สศท. ปลื้มตลอดการจัดงาน 5 วัน ดึงผู้เข้าชมมากกว่า 20,000 รายมั่นใจสร้างไอเดีย สร้างรายได้ต่อยอดจากภูมิปัญญางานศิลปหัตถกรรมไทย พร้อมเป็นแรงขับเคลื่อน Craft Power สู่ตลาดสากล
นางพรรณวิลาส แพพ่วง รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย เปิดเผยว่า การจัดงาน “อัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 15” ภายใต้แนวคิด สืบสานตำนานหัตถศิลป์ไทย (The Legend of Thai Craft) ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 18-22 กันยายนที่ผ่านมา ณ ฮอลล์ 5 ชั้น LG ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจ ของ สศท. ในด้านการส่งเสริม สนับสนุน ศิลปหัตถกรรมของประเทศในทุกพื้นที่ของประเทศไทย ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ด้วยการนำทุนทางวัฒนธรรมมาเสริมสร้างอาชีพให้กับคนไทย สู่การพัฒนาหัตถศิลป์ไทยให้ยั่งยืน โดยมีการจัดแสดงหัตถศิลป์ไทยสืบสานภูมิปัญญา และรวบรวมสุดยอดฝีมือหัตถศิลป์ชั้นบรมครูที่หาชมได้ยาก และจำหน่ายงานหัตถศิลป์ไทยทรงคุณค่า
สำหรับภาพรวมการจัดงานในปีนี้ มีกระแสตอบรับจากคนไทยและต่างชาติ ตลอดการจัดงาน 5 วัน มีจำนวนผู้เข้าชมงานมากกว่า 20,000 ราย และสามารถสร้างเงินสะพัดภายในงานเกินเป้ามากกว่า 80 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่างานหัตถศิลป์ไทยยังคงได้รับความนิยมจากทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่สนใจในงานฝีมือ และ ภูมิปัญญามาต่อยอดไอเดียสร้างสรรค์เป็นอาชีพเสริม สร้างรายได้ในอนาคตได้
“สศท. เราให้ความสำคัญกับช่างฝีมืองานหัตถศิลป์ชั้นครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม เพื่อสืบสานอัตลักษณ์ความเป็นไทย ที่เป็นมรดกภูมิปัญญาที่จะต้องถูกการถ่ายทอดให้ลูกหลานไม่ให้สูญหาย และสิ่งสำคัญผลงานเหล่านี้ จะต้องถูกถ่ายทอดไปยังนานาประเทศ เพื่อให้ชาวต่างชาติได้รับรู้ถึงเสน่ห์ของงานหัตถกรรมไทย และเป็นที่ประจักษ์ในฐานะมรดกภูมิปัญญาคู่แผ่นดินที่ไม่มีประเทศไหนในโลกเหมือน สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับประเทศทำให้งานหัตถศิลป์ยังคงเป็นอาชีพสร้างรายได้ให้คนไทย สร้างแรงบันดาลใจใหม่ ๆ และอยู่คู่กับคนไทยทุกยุคสมัย”
ในอนาคต สศท. จะยังคงเดินหน้าทำหน้าที่สืบสาน สร้างสรรค์ และส่งเสริม งานศิลปหัตถกรรมไทยในทุกมิติอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างการรับรู้ ความตระหนักในคุณค่า และภูมิปัญญางานหัตถศิลป์ไทย ให้คนรุ่นใหม่ร่วมเรียนรู้ และรักษาให้คงอยู่ตลอดไป โดย สศท. จะเป็นแรงขับเคลื่อนด้านองค์ความรู้ให้คนรุ่นใหม่นำไปต่อยอดสร้างอาชีพด้วย งานหัตถกรรม การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถตอบโจทย์การใช้งานในวิถีชีวิตปัจจุบัน และขยายช่องทางการตลาดใหม่ทั้งออฟไลน์ และออนไลน์ เพื่อนำพางานหัตถศิลป์ไทยให้เป็นที่รู้จักในเวทีโลกต่อไป