ไทยเจ้าภาพจัดยิ่งใหญ่ ประชุมความร่วมมือ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน มุ่งพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านแร่ธาตุ

เริ่มเปิดงานการประชุมระดับอาเซียนแล้ว กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านแร่ธาตุอาเซียน ครั้งที่ 19 (The 19th ASEAN Senior Officials Meeting on Minerals: The 19th ASOMM) เพื่อดำเนินการตามแผนปฏิบัติการความร่วมมือด้านแร่ธาตุอาเซียน มุ่งพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็ง 4 ด้าน ทั้งข้อมูล บุคลากร การพัฒนาแร่อย่างยั่งยืน และการอำนวยความสะดวกด้านการค้าการลงทุน

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในปี 2562 นี้ ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านแร่ธาตุอาเซียน ครั้งที่ 19 (The 19th ASEAN Senior Officials Meeting on Minerals: The 19th ASOMM) โดยสาระสำคัญของการประชุมในครั้งนี้ จะร่วมกันพิจารณาผลการดำเนินงาน ที่ผ่านมาของการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการความร่วมมือด้านแร่ธาตุอาเซียน ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2559 – 2568) ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2559 – 2563) หรือ ASEAN Minerals Cooperation Action Plan III (2016-2025) Phase I (2016-2020): AMCAP III PHASE I รวมทั้งร่วมหารือถึงปัญหา/อุปสรรคของการดำเนินงาน ตลอดจนพิจารณาผลความร่วมมือทั้ง 4 ด้าน ได้แก่

  • 1) การพัฒนาฐานข้อมูลด้านแร่ (Facilitating and Enhancing Trade and Investment in Mineral)
  • 2) การพัฒนาด้านแร่อย่างยั่งยืน (Promoting Environmentally and Socially Sustainable Mineral Development)
  • 3) การเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรในการพัฒนาด้านแร่ (Strengthening Institutional and Human Capacities in the ASEAN Minerals Sector)
  • 4) การอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนด้านแร่ (Maintaining Efficient and Up-To-Date ASEAN Minerals Database, including its infrastructure towards achieving AEC integration in the minerals sector)

นอกจากนี้ความร่วมมือด้านแร่ธาตุอาเซียนของกลุ่มประเทศอาเซียนดังกล่าว ยังได้รับความร่วมมือจากสหพันธ์สมาคมเหมืองแร่แห่งอาเซียน (ASEAN Federation of Mining Association: AFMA) คณะกรรมการประสานงานเกี่ยวกับการสำรวจทรัพยากรธรณีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ (Coordinating Committee of Geoscience Programmes in East and Southeast Asia: CCOP) และองค์กรผู้แทนรัฐบาลนานาชาติด้านเหมืองแร่ แร่ ธาตุ โลหะ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Intergovernmental Forum on Mining, Minerals, Metals and Sustainable Development: IGF) โดยได้หารือแนวทางความร่วมมือกันในอนาคต ซึ่งผลสำเร็จของการประชุมในครั้งนี้จะนำไปสู่การพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับความร่วมมือด้านแร่ธาตุของอาเซียน

ทั้งนี้ ผลสำเร็จจากความร่วมมือดังกล่าวจะสร้างให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมในหลายด้าน ทั้งสร้างให้เกิดฐานข้อมูลแร่อาเซียนและระบบสารสนเทศ (ASEAN Mineral Database and Information System: AMDIS) ซึ่งมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาของภาคแร่ธาตุของประเทศสมาชิกอาเซียน สร้างให้เกิดการ มีส่วนร่วมในการสร้างงาน และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม รวมทั้งทำให้เกิดการเพิ่มการค้าการลงทุนในภาคแร่ธาตุเพื่อสนับสนุนประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) นอกจากนี้ ยังสร้างให้เกิดกองทุนด้านแร่ธาตุอาเซียน หรือ ASEAN Mineral Trust Fund ซึ่งเป็นกองทุนสนับสนุนการดำเนินงานแผนงานโครงการและกิจกรรมความร่วมมือด้านแร่ธาตุของอาเซียน ได้แก่ โครงการความร่วมมือเกี่ยวกับระบบฐานข้อมูลแร่ การค้าและการลงทุนด้านแร่ การพัฒนาทรัพยากรแร่อย่างยั่งยืน และการพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรและองค์กรด้านแร่ของประเทศสมาชิก ตลอดจนการดำเนินโครงการความร่วมมือต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการความร่วมมือด้านแร่ธาตุอาเซียน ซึ่งเกิดประโยชน์โดยตรงต่อประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ ตั้งแต่การรับทราบข้อมูลด้านแร่ระหว่างกัน การพัฒนาการค้าและการลงทุนเหมืองแร่ระหว่างกัน การพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีทางด้านการผลิตแร่ การใช้ประโยชน์แร่ และการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมจากการประกอบกิจการแร่

“ผลจากความร่วมมือจากประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ก่อให้เกิดการพัฒนาด้านแร่ธาตุอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันได้ร่วมกันดำเนินการตามแผนงานมาเป็นระยะที่ 3 แล้ว และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนภูมิภาคของเราตามแผนปฏิบัติการความร่วมมือด้านแร่ธาตุอาเซียนต่อไป เพื่อเสริมสร้างศักยภาพ พัฒนาทรัพยากรแร่ธาตุอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน” นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวทิ้งท้าย