ททท. ร่วมกับ สธทท. เปิดเส้นทางท่องเที่ยว นครนายก-ปราจีนบุรี ‘ธรรม (ะ) ได้เที่ยว’ รูปแบบ ‘สบ๊ายสบาย ภาคตะวันออก’

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานนครนายก จับมือ สมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย (สธทท.) เปิดเส้นทางท่องเที่ยวจังหวัดนครนายก-ปราจีนบุรี กับ 10 จุดหมาย ในรูปแบบ 2 วัน 1 คืน กับโครงการ ‘ธรรม (ะ) ได้เที่ยว’ @นครนายก ปราจีนบุรี รูปแบบ ‘สบ๊ายสบาย ภาคตะวันออก’ ท่องเที่ยวปลอดภัย สุขใจเที่ยวเมืองรอง ย้อนรอยสำรวจ อาณาจักรทวารวดี พร้อมเสริมโชคลาภให้เต็มเปี่ยมกับปี 2565 ในฉบับของ Biker Trip

จุดสตาร์ท

ในทริปนี้เป็นการเดินทางท่องเที่ยวฉบับ Biker Trip ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 40 คัน โดยเดินทางมาจากหลากหลายจังหวัด จุดสตาร์ทของการเดินทางอยู่ที่ “การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนครนายก” ซึ่งได้รับเกียรติจาก คุณวันดี เผื่อนอุดม ผู้อำนวยการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนครนายก เป็นประธานเปิดงานและตีธงปล่อยตัว Biker trip นำทีมโดย คุณสมานนพพล รัตนธรรมทิตยา บริษัท วันเดอร์ลัสต์ ทัวร์ แอนด์ ทราเวล คอนซัลติ้ง จำกัด พร้อมด้วย คุณพูลผล แพทอง ที่ปรึกษาฝ่ายสื่อสารองค์กร และประธานส่งเสริมการตลาดท่องเที่ยวภายในประเทศภูมิภาคภาคตะวันออก สมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย สธทท.

เส้นทางการท่องเที่ยวนี้ถูกจัดเพื่อกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศผ่านกิจกรรม/แพ็คเกจ/โปรโมชั่น โดยตั้งเป้าดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มวัยทำงาน และ Active Senior ให้ได้เดินสัมผัสประสบการณ์การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม โดยเน้นไปที่พิพิธภัณฑ์ โบราณสถานและศาสนสถานต่างๆ ที่กระจายตัวอยู่ภายในจังหวัด ย้อนกลับไป 1,500 ปี ตั้งแต่สมัยอาณาจักรทวารวดี ภายใต้มาตรการการท่องเที่ยววิถีใหม่ (New normal)

วันที่ 1 ของการเดินทาง

จุดหมายที่ 1

พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี

เป็นพิพิธภัณฑสถานประเภทประวัติศาสตร์โบราณคดีประจำภูมิภาคตะวันออก ถูกบริหารจัดการโดยกรมศิลปากร  จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นสถานที่จัดแสดงและรวบรวมโบราณวัตถุ  ศิลปวัตถุ ที่ได้จากแหล่งโบราณคดีต่าง ๆ ของภูมิภาคตะวันออกและพื้นที่ใกล้เคียง ในเขตจังหวัดปราจีนบุรี  สระแก้ว ฉะเชิงเทรา  ชลบุรี  ระยอง  จันทบุรีและตราด  และจัดแสดงเรื่องราวประวัติศาสตร์ของพื้นที่ตั้งแต่การเข้ามาตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ตั้งแต่ราวหมื่นปีมาแล้วจนกระทั่งถึงปัจจุบัน  ซึ่งแบ่งการจัดแสดงออกเป็น 5 ห้อง

1.ห้องประวัติศาสตร์และโบราณคดีภาคตะวันออก

เรียนรู้ประวัติศาสตร์และโบราณคดีในภาคตะวันออก ด้วยสภาพภูมิประเทศที่อุดมสมบูรณ์ ทำให้เหมาะแก่การตั้งถิ่นฐานของชุมชน ดังปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยประวัติศาสตร์ พร้อมชมวีดิทัศน์ “ร่องรอยวัฒนธรรมลุ่มน้ำบางปะกงและภูมิภาคตะวันออก”

2.ห้องชุมชนโบราณในภาคตะวันออก

จัดแสดงเนื้อหาเกี่ยวกับชุมชนโบราณสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในภูมิภาคตะวันออกที่สำคัญ ได้แก่ ชุมชนโคกพนมดี ราว ๓,๕๐๐ – ๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว และชุมชนหนองโน ราว ๒,๗๐๐ – ๔,๕๐๐ ปีมาแล้ว ผ่านหลุมศพจำลองเจ้าแม่โคกพนมดีและโบราณวัตถุที่พบจากแหล่งโบราณคดีโคกพนมดีและหนองโน จังหวัดชลบุรี

3.ห้องพัฒนาการของชุมชนและเมืองโบราณในภาคตะวันออก

จัดแสดงพัฒนาการของชุมชนและเมืองโบราณในภาคตะวันออก เริ่มต้นจากความสัมพันธ์กับดินแดนโพ้นทะเล เข้าสู่ช่วงรับวัฒนธรรมทวารวดีและวัฒนธรรมเขมรโบราณในภาคตะวันออก โบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่พบในภาคตะวันออก ได้แก่ ทับหลังจากปราสาทเขาน้อยสีชมพู ทับหลังจากปราสาทสด๊กก็อกธม รวมถึงจารึกที่พบจากปราสาททั้ง ๒ แห่งดังกล่าว

4.ห้องวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำบางปะกง

จัดแสดงเรื่องราวของชุมชนในบริเวณลุ่มแม่น้ำบางปะกง ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนเข้าสู่วัฒนธรรมทวารวดี ผ่านผนังสื่อมัลติมีเดียโปรเจคเตอร์ทัชที่ทุกท่านสามารถสัมผัสเพื่อรับชมเนื้อหา

5.ห้องเมืองศรีมโหสถ นครรัฐแรกเริ่มแห่งลุ่มน้ำบางปะกง

เมืองโบราณศรีมโหสถกำเนิดขึ้นร่วมสมัยกับอาณาจักรฟูนันตอนปลายและพัฒนาเข้าสู่วัฒนธรรมทวารวดีในพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๖ ก่อนที่วัฒนธรรมเขมรจะเข้ามาในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ – ๑๘ พบโบราณวัตถุชิ้นสำคัญ ได้แก่ พระคเณศ พระวิษณุจตุรภุช พระพุทธรูปปางสมาธิ รวมถึงเครื่องสำริดประกอบพิธีกรรมที่มีจารึกภาษาเขมรกล่าวถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗

เปิดบริการวันพุธ – วันอาทิตย์ เวลา 09.00-16.00 น. หรือสามารถติดต่อสอบถามได้ที่เบอร์โทรศัพท์ : 037-211 586

จุดหมายที่ 2

ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์

มีลักษณะเป็นตึกสองชั้น สร้างโดยบริษัทโฮวาร์ด เออร์สกิน เป็นสถาปัตยกรรมยุโรปในแบบบาร็อค (Barogue) ตั้งอยู่ภายในรั้วของโรงพยาบาลอภัยภูเบศร์ ทาสีเหลืองมัสตาร์ด มีลวดลายปูนปั้นสีขาวประดับงดงาม สร้างขึ้น เมื่อ พ.ศ.2452 โดยใช้ทรัพย์สินส่วนตัวของท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (ชุ่ม) ซึ่งมีเจตนารมณ์เพื่อจัดถวายตึกนี้ ให้เป็นที่ประทับแรมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยามเสด็จประพาสมณฑลบูรพา แต่ยังไม่ทันแล้วเสร็จ ในปีต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จสวรรคตเสียก่อน ตึกนี้จึง ได้เริ่มใช้ในการรับเสด็จครั้งแรกในคราที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเยือน มณฑลปราจีนบุรี ปี ค.ศ.1912 (พ.ศ.2455) ปัจจุบันตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์นี้ ใช้เป็นพิพิธภัณฑ์แพทย์แผนไทย และที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ของโรงพยาบาลอภัยภูเบศร์

จุดหมายที่ 3

วัดแก้วพิจิตร

“วัดแก้วพิจิตร” เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2422 ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศตะวันออกประมาณ 2 กิโลเมตร สร้างขึ้นโดยนางประมูลโภคา (แก้ว ประสังสิต) ซึ่งเป็นภรรยาของขุนประมูลภักดี เพื่อใช้ในการทำบุญตักบาตร ถือศีลฟังธรรมโดยมีผู้ร่วมกันบริจาคที่ดิน แรงงานและทุนทรัพย์ในการก่อสร้าง สิ่งก่อสร้างในระยะแรก ประกอบด้วย ศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์ กุฎิ พระอุโบสถ ศาลาท่าน้ำและเรือนแพ ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2456 “เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์)” ได้บูรณะวัดแห่งนี้ และสร้างศาสนสถานต่าง ๆ ภายในวัด เช่น โบสถ์ อาคาร รร. อภัยพิทยาคาร และ รร. พระไตรปิฎกและวินัย ซึ่งปัจจุบันเป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ของวัด โดยตัววัดเป็นสถาปัตยกรรมผสมผสาน 4 รูปแบบคือ ไทย จีน ยุโรป และขอม ซึ่งมีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย

โดยวัดแก้วพิจิตรเป็นวัดคู่แฝด กับวัดดำเรยซอร์ หรือวัดช้างเผือก ที่สร้างโดยเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม) ณ เมืองพระตระบอง ก่อนจะอพยพมาพำนักที่เมืองปราจีนบุรี

ภายในอุโบสมี พระประธานคือหลวงพ่ออภัยวงศ์ เป็นพระพุทธรูปสีดำออกแบบโดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ส่วนภาพจิตรกรรมฝาผนังวาดโดยช่างหลวงสมัยรัชกาลที่ 6 ด้านหลังฐานชุกชีขององค์พระเป็นที่บรรจุอัฐิของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) และพระยาอภัยภูเบศร (เลื่อม อภัยวงศ์)

จุดหมายที่ 4

บ้านเล่าเรื่อง

แวะรับประทานอาหารกลางวันที่ บ้านเล่าเรื่อง บ้านหลังเล็กๆ ปกคลุมด้วย ต้นไทร ต้นใหญ่ อายุเก่าแก่ ร่มครึ้ม ซึ่งเดิม เป็นบ้านของครอบครัวเปี่ยมสมบูรณ์ ตระกูลเก่าแก่ของเมืองปราจีนบุรี สร้างขึ้นราว พ.ศ. 2493 บ้านเล่าเรื่อง สมุนไพรปราจีนบุรี เป็นร้านอาหาร ที่จัดแสดงประวัติความเป็นมาของเมืองปราจีนบุรี วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ และวัฒนธรรมประเพณี รวมถึง ภูมิปัญญาพื้นบ้านด้านสมุนไพร ที่คนปราจีนบุรีใช้ในการดูแลสุขภาพมายาวนาน

ปัจจุบันทางร้านนำเสนออาหารเพื่อสุขภาพโดยใช้พืชผักและสมุนไพรเป็นส่วนประกอบ อาทิ ปลากะพงผัดขิง แกงฮังเลหมู ใบชะพลูกุ้งทอด แกงจืดใบหูเสือ เป็นต้น

จุดหมายที่ 5

เมืองศรีมโหสถ

แหล่งโบราณเมืองศรีมโหสถ เคยเป็นที่ตั้งของเมืองในสมัยโบราณ เมื่อราวพุทธศักราช 300 โดยที่กรมศิลปากรได้ทำการขุดค้นและศึกษาหลักฐานต่างๆ ปรับปรุงโบราณสถานมาตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2529 แหล่งโบราณคดีเมืองศรีมโหสถอยู่ในเขตตำบลโคกปีบ อำเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี โดยมีที่ตั้งอยู่ในบริเวณ 3 หมู่บ้านด้วยกัน ได้แก่ บ้านสระมะเขือ บ้านโคกวัด และบ้านหนองสะแก เมืองนี้มีชื่อเรียกอื่นๆ อีกว่า เมืองอวัธยะปุระ

พื้นที่เมืองโบราณนี้ มีความกว้าง 700 เมตร ยาว 1,550 เมตร เนื้อที่ทั้งหมด 742 ไร่ 2 งาน 25 ตารางวา ลักษณะของพื้นที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แต่มุมทั้งสี่มน ทำให้พื้นที่คล้ายกับวงรี มีคันดิน คูน้ำล้อมรอบ ส่วนภายในมีเนินดินและสระน้ำกระจายหลายแห่ง โดยมีสระใหญ่สองแห่งเรียกว่า สระมรกต และสระบัวล้า

ที่ขอบสระ มีการสลักรูปสัตว์ภายในกรอบสี่เหลี่ยม ช้าง มกร หม้อน้ำ สิงห์ หมู งู และช้าง ซึ่งเป็นสัตว์มงคลของเทพในศาสนาฮินดู สะท้อนความอุดมสมบูรณ์ โดยมกร มีความใกล้เคียงกับรูปแบบศิลปะอมราวดีของอินเดีย ที่อยู่ภายในกำแพงเมือง และคูน้ำ เชื่อว่าเคยใช้น้ำในสระนี้ เป็นน้ำมงคล ใช้ในการประกอบพระราชพิธีสำคัญ

ซากโบราณสถานที่พบ มีเทวาลัยของพระนารายณ์ในลัทธิพราหมณ์ฮินดู และมีเทวรูปสลักจากหินทราย เป็นรูปเทพเจ้าต่างๆ ได้แก่ พระนารายณ์ พระวิษณุ พระพิฆเณศ นอกจากนี้ยังมีศิวลึงค์ศิลาด้วย ขณะเดียวกันก็มีการขุดค้นพบพระพุทธรูปสมัยทวาราวดี ทั้งสลักจากศิลา และหล่อด้วยสำริด และยังมีโบราณวัตถุอื่นๆ เป็นจำนวนมาก ส่วนด้านนอกของเมืองศรีมโหสถนั้น ยังมีหลักฐานบ่งบอกถึงความเจริญรุ่งเรืองในอดีต และร่องรอยของชุมชนขนาดใหญ่ด้วย ปัจจุบันโบราณวัตถุที่พบในแหล่งโบราณคดีเมืองศรีมโหสถ ได้นำไปจัดเก็บไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี

ฐานเทวาลัยพระคเณศที่ชาวศรีมโหสถสร้างเทวาลัยฮินดูขึ้นกลางเมืองฯ เพื่อประดิษฐานพระคเณศ เทพแห่งศิลปะวิทยาการและขจัดอุปสรรค รูปเคารพศิลาองค์ใหญ่ สูง 1.70 เมตร และมีความเก่าแก่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 11-12 หรือประมาณ 1500 ปีมาแล้ว

จุดหมายที่ 6

โบราณสถานสระมรกต

ตั้งอยู่ที่วัดสระมรกต ตำบลโคกไทย เป็นกลุ่มโบราณสถานทางพุทธศาสนาขนาดใหญ่ ที่สร้างซ้อนทับกันหลายสมัย เริ่มตั้งแต่ก่อนพุทธศตวรรษที่ 14 เป็นต้นมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ 18 ประกอบด้วยสิ่งก่อสร้าง ศิลาแลง และอิฐ ส่วนใหญ่คงเหลือเฉพาะรากฐานอาคารเท่านั้น ระหว่างการขุดแต่งได้ค้นพบรอยพระพุทธบาทคู่ สลักอยู่บนศิลาแลง สลักเป็นรอยเลียนแบบรอยเท้ามนุษย์

ค้นพบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2529 คาดว่าสร้างขึ้นครั้งแรกสมัยทวารวดี ถึงสมัยลพบุรี นับเป็นรอยพระพุทธบาทที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ใกล้กันมีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งพบพระพุทธรูปและโบราณวัตถุเป็นจำนวนมากภายในบ่อ และเป็นบ่อซึ่งได้นำน้ำขึ้นทูลเกล้าถวายเนื่องในพิธีรัชมังคลาภิเษก โดยมักมีพุทธศาสนิกชนมากมายมาสวดมนต์ ทำพิธีที่รอยพระพุทธบาทนี้ในวันมาฆะบูชาของทุกๆ ปี

จุดหมายที่ 7

ททท. สำนักงานนครนายก โดยคุณวันดี เผื่อนอุดม ผู้อำนวยการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนครนายก ได้จัดงานเลี้ยงสังสรรค์ต้อนรับคณะ ‘ธรรม (ะ) ได้เที่ยว’ ทัวร์อินไทยแลนด์ และกลุ่ม big biker กรุงเทพฯ-นครนายก – ปราจีนบุรี ณ ร้านอาหารบางกุ้งทุ่งข้าว จังหวัดปราจีนบุรี

โดยมี คุณสุนทร วิลาวัลย์ นายก อบจ. ปราจีนบุรี และมิสแกรนด์กบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี น้องพลอย วัลวิสา แก้วประเสริฐ มาต้อนรับ และเพลิดเพลินไปกับการแสดงชุดพิเศษ รวมถึง การเล่นเกมสร้างสรรค์เพื่อการผ่อนคลายยามเย็นได้เป็นอย่างดี ก่อนแยกย้ายไปพักผ่อน ณ โรงแรมแคนทารี 304

วันที่ 2 ของการเดินทาง

จุดหมายที่ 8

วัดปทุมบูชา

ส่องเลขเด็ดท้าวเวสสุวรรณ หนึ่งในท้าวจตุโลกบาล ผู้ปกปักรักษาทิศเหนือ เป็นเทพแห่งความมั่งคั่ง ผู้ใหญ่แห่งยักษ์ อสูร และปีศาจทั้งปวง โดยมีความเชื่อว่าท้าวเวสสุวรรณจะปกป้องสรรพชีวิตจากสิ่งชั่วร้าย สร้างเมื่อราว พ.ศ. 2524 ประดิษฐานอยู่ข้างพระอุโบสถ ซึ่งท้าวเวสสุวรรณองค์นี้มีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคกลาง และภาคตะวันออก โดยมีความสูงถึง 12 เมตร โดยทางคณะได้รับความเมตตาจากท่านเจ้าอาวาส มาต้อนรับและมอบวัตถุมงคลให้กับคณะทุกคน

จุดหมายที่ 9

วัดสง่างาม

วัดแห่งแรกในประเทศไทย ที่มีการยกพระอุโบสถขึ้นทั้งนี้มีสาเหตุมาจากทุกเดือนกรกฎาคมและตุลาคมของทุกปี แม่น้ำปราจีนบุรีจะเข้าท่วมรอบพระอุโบสถสูงประมาณ 1 เมตร ทำให้พระสงฆ์ต้องทำสังฆกรรมด้วย ความยากลำบาก นี่เองจึงเป็นที่มาของการยกฐานพระอุโบสถสูง 1.59 เมตร ซึ่งขณะทำการบูรณะอยู่นั้น มีประชาชนเดินทางมาลอดใต้ท้องพระอุโบสถจำนวนมาก แต่ละคนตั้งจิตอธิษฐานให้หายจากโรคภัย รวมทั้งมีโชคลาภต่างๆและล้วนสมปรารถนา ความศักดิ์สิทธิ์ของพระอุโบสถหลังนี้จึงเป็นที่โจษจัน และหลังจากนั้นเป็นต้นมาก็มีผู้คนจากทุกสารทิศเดินทางมาลอดใต้พระอุโบสถกันอยู่เสมอ พร้อมกับแวะปิดทองหลวงปู่ผิว (พระครูสีลวิสุทธาจารย์) อดีตเจ้าอาวาสเพื่อขอพรและเสริมสิริมงคลแก่ชีวิต รวมถึงสายมูขอเลขขอโชคต้องมากราบไหว้ท้าวเวสสุวรรณเสริมสุวรรณ ที่มีความเก่าแก่หลายร้อยปี ซึ่งทางวัดได้อัญเชิญมาจากโรงหล่อใน จ.นนทบุรี

จุดหมายที่ 10

วัดรัตนเนตตาราม

เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า วัดล้านหอย เนื่องจากมีการนำเปลือกหอยที่ถูกทิ้งอย่างหอยกาบ หอยจาน และหอยแครง มาสร้างเป็นถาวรวัตถุ โดยฝีมือของเจ้าอาวาส พระ และเณร อาคารเสนาสนะที่สำคัญ ได้แก่ หอพระแก้วสามฤดู ภายนอกตกแต่งด้วยเปลือกหอยสารพัดชนิด โทนสีส้มทอง เปลือกหอยถูกทับซ้อนกันเป็นรูปดอกไม้ บริเวณทางขึ้นยังประดับด้วยพญานาคขนาดใหญ่สองฝั่ง ตกแต่งด้วยเปลือกหอยสีเขียวสลับทอง ภายในมีรูปปั้นนกแก้ว นกขุนทอง และรูปปั้นพระพุทธรูปต่าง ๆ หอระฆังและสวนพุทธประวัติแสดงพุทธสถานขององค์พระพุทธเจ้า มีทั้งปางประสูติ ตรัสรู้ แสดงธรรม ตกแต่งด้วยเปลือกหอยเช่นเดียวกัน

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเส้นทางการท่องเที่ยว ‘ธรรม (ะ) ได้เที่ยว’ รูปแบบ ‘สบ๊ายสบาย ภาคตะวันออก’ ได้ที่

โทรศัพท์ 094-738-9999 (คุณตรี วันเดอร์ลัสต์ ทัวร์ แอนด์ ทราเวล คอนซันติ้ง) , 099-127-5553 (คุณอ้วน ทัวร์อินไทยแลนด์)

ททท.สำนักงานนครนายก โทรศัพท์: 037-312282, 037-312284, 1672 โทรสาร: 037-312286 อีเมล์: tatnayok@tat.or.th เว็บไซต์: www.tat8.com

#สบ๊ายสบายภาคตะวันออก #ทททนครนายก #สธททพาเที่ยว #เที่ยวเมืองไทยAmazingยิ่งกว่าเดิม #สมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย #อื่นๆอีกมากมายท้าทายให้สัมผัส #ชมรมสื่อมวลชนส่งเสริมการท่องเที่ยว #ชมรมสื่อสร้างสรรค์เพื่อการท่องเที่ยว #ธรรมะได้เที่ยว #wannateller #biztosuccess