สมาคมโรคไตฯ จัดกิจกรรมวันไตโลก 2564 ผ่านเฟซบุ๊กออนไลน์ ห่วงผู้ป่วย “โรคไตเรื้อรัง”สูงขึ้น

สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอเชิญประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมการจัดงานสัปดาห์วันไตโลกและสัปดาห์ลดการบริโภคเค็ม  ประจำปี 2564 ผ่านเฟซบุ๊กออนไลน์ “สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย” ในวันพฤหัสบดี ที่ 11 มีนาคม 2564  ตั้งแต่เวลา  09.00 – 12.30 น. พร้อมเตือนคนไทยหยุดพฤติกรรมบริโภคเค็มและเลิกกินสมุนไพรที่ทำลายไต  ด้านสปสช.เผย ปี 2564 มีผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้ายลงทะเบียนรับการรักษารวม 64,639 ราย ใช้งบประมาณค่ารักษาพยาบาลเป็นจำนวน 9,720 ล้านบาท ซึ่งสูงมากขึ้นทุกปี  

รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยและประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม เปิดเผยว่า   การจัดงานกิจกรรมสัปดาห์วันไตโลกและสัปดาห์ลดการบริโภคเค็ม  ประจำปี  2564 ในปีนี้ภายใต้คำขวัญ “ไตวายไม่ตายไว แค่ปรับใจและปรับตัว” โดยกิจกรรมวันไตโลกจะจัดในรูปแบบออนไลน์ ผ่าน Facebook Live ของสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย จัดขึ้นในวันพฤหัสบดี ที่ 11 มีนาคม 2564  ตั้งแต่เวลา  09.00 – 12.30 น.  เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคต่าง ๆ  และการป้องกันโรคอย่างเหมาะสม ซึ่งถือเป็นครั้งแรก หลังจากปีที่แล้ว เราไม่ได้จัดงานสืบเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19  แต่เนื่องจากสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้หารือกันแล้วว่า สถานการณ์ของโรคไตในปัจจุบันนั้นมีความรุนแรงต่อเนื่องสอดคล้องกับการทำวิจัยพฤติกรรมการบริโภคเค็มครั้งล่าสุดในปี 2564  พบว่าคนไทยบริโภคโซเดียมเฉลี่ยประชาชนไทยเท่ากับ 3,636 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเท่ากับเกลือถึง 1.8 ช้อนชา เปรียบเทียบกับคนไทยบริโภคโซเดียมเกินเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกแนะนำเกือบ 2 เท่า (องค์การอนามัยโลกแนะนำให้บริโภคโซเดียมไม่เกินวันละ 2,000 มิลลิกรัม) โดยผลการวิจัยพบปริมาณการบริโภคโซเดียมเฉลี่ยสูงที่สุดในประชากรภาคใต้จำนวน 4,108 มก./วัน รองลงมาคือภาคกลาง จำนวน 3,760 มก./วัน,  ภาคเหนือจำนวน 3,563 มก./วัน, กรุงเทพมหานครจำนวน 3,496 มก./วันและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน  3,316 มก./วัน ตามลำดับ จึงจำเป็นต้องจัดงานเผยแพร่ความรู้เรื่องโรคไตสู่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง

รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า อีกเรื่องที่เป็นประเด็นสำคัญ คือการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสมุนไพรต่าง ๆ ของยาสมุนไพรหลายชนิดในช่วงนี้ผ่านสื่อต่างๆ โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ เป็นประเด็นที่สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยร่วมกับเครือข่ายองค์กรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง ขอยืนยันว่าในปัจจุบันยังไม่มีสมุนไพรตัวไหนที่มีข้อมูลหลักฐานทางงานวิจัยหรือการบันทึกมากเพียงพอที่แสดงถึงประโยชน์ในการรักษาโรคไตได้อย่างมั่นใจ การนำมาใช้จึงอาจทำให้เกิดโทษต่อผู้ป่วยโรคไตได้เนื่องจาก 1.ไตเป็นอวัยวะที่สามารถเกิดอันตรายจากการใช้ยาและสารต่าง ๆ ได้ง่าย ซึ่งยาสมุนไพรส่วนใหญ่ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับขนาดยาที่เหมาะสมในผู้ป่วยโรคไต  2.สมุนไพรที่ไม่ได้มาตรฐานอาจมีสารปนเปื้อน  เช่น โลหะหนัก  3.สมุนไพรอาจมีสารปลอมปน เช่น ยาแก้ปวด สเตียรอยด์  4.สมุนไพรและพืชบางชนิดมีพิษต่อไตโดยตรง หรือทำให้เกิดผลเสียในผู้ป่วยโรคไตได้ เช่น ไคร้เครือ (Aristolochia) ทำให้เกิดไตวายเรื้อรังและมะเร็งทางเดินปัสสาวะ, มะเฟือง (Star fruit) ทำให้เกิดไตวายเฉียบพลัน, ปอกะบิด (East Indian screw tree) ทำให้การทำงานของไตผิดปกติ, ชะเอมเทศ (Licorice) ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง, น้ำลูกยอ (Morinda citrifolia L) ทำให้โพแทสเซียมในเลือดสูง เป็นต้น 4. สมุนไพรยังอาจมีปฏิกิริยาระหว่างยา (drug interaction) กับยาประจำที่แพทย์สั่งซึ่งอาจลดประสิทธิภาพหรือเกิดพิษของยาขึ้นได้  ดังนั้นผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงป่วยเป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง  โรคหัวใจ โรคอัมพฤตอัมพาต  ก็ไม่ควรบริโภคเพราะจะมีผลต่อไต

สำหรับสมุนไพรอีกชนิดที่กำลังเป็นที่นิยม คือถั่งเช่า ซึ่งมีแพร่หลายอย่างมากในประเทศไทย และมีผู้แนะนำสินค้าบนโลกออนไลน์โซเชียลมีเดีย  สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยขอยืนยันว่าจากองค์ความรู้ที่มีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนว่า ถั่งเช่ามีประโยชน์จริงในผู้ป่วยโรคไต เนื่องจากมีเพียงข้อมูลการศึกษาในสัตว์ทดลอง แต่ไม่มีหลักฐานการศึกษาที่ดีเพียงพอที่จะพิสูจน์ได้ว่า ถั่งเช่ามีประโยชน์กับไตในมนุษย์และการศึกษาส่วนใหญ่ไม่ได้รายงานของอาการที่ไม่พึงประสงค์ของถั่งเช่าอีกด้วย  ส่วนถั่งเช่าที่มีการศึกษาในมนุษย์นั้น ส่วนใหญ่เป็น ถั่งเช่าจากทิเบต (Cordyceps sinensis) ที่เกิดในธรรมชาติซึ่งมีราคาสูงมาก การศึกษาส่วนใหญ่ใช้เวลาเพียง 1-6 เดือนเท่านั้น จึงไม่สามารถทราบถึงผลดีและผลเสียในระยะยาวได้และยังพบว่าผลิตภัณฑ์ถั่งเช่าทิเบตบางส่วนมีโลหะหนักในปริมาณสูง ซึ่งจะมีผลเสียต่อไตในระยะยาว โดยสรุปการที่ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังลองทานยาสมุนไพรรักษาโรคไตนั้น  น่าจะมีโทษมากกว่าประโยชน์ โดยเราต้องอย่าลืมว่าผู้ป่วยเหล่านี้มีค่าการทำงานของไตลดลงอยู่แล้ว  ซึ่งการรักษาที่ดีที่สุดคือการดูแลปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม เพื่อชะลอการเสื่อมของไตให้ช้าที่สุด รวมทั้งหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เกิดความเสี่ยงต่อไตทั้งหมด

ด้านนพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช.ได้จัดงบประมาณการล้างไตผ่านช่องท้อง การฟอกเลือด และการปลูกถ่ายไต โดยแต่ละปีจะมีจำนวนผู้ป่วยสูงมากขึ้นเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ทุกปี สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยยังดูแลสุขภาพของตนเองไม่ดีพอ สปสช.จึงได้เน้นส่งเสริมการป้องกันควบคู่กับการดูแลรักษา โดยเฉพาะการตรวจคัดกรองผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไม่ให้ป่วยเป็นไตวายเรื้อรังระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ให้สิทธิประโยชน์ดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายครบวงจร รวมถึงสิทธิของผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ของสำนักงานประกันสังคมด้วย เพื่อให้เข้าถึงการบริการที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน ป้องกันการล้มละลายจากการเจ็บป่วยที่มีค่าใช้จ่ายสูง ครอบคลุมการบำบัดทดแทนไต ได้แก่ การผ่าตัดปลูกถ่ายไต การล้างไตผ่านทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม รวมถึงการให้ยากระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง

ทั้งนี้ในปี  2564 สปสช.มีผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้ายลงทะเบียนรับการรักษารวม 64,639 ราย ใช้งบประมาณค่ารักษาพยาบาลเป็นจำนวน 9,720 ล้านบาทเศษ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังเพิ่มสูงขึ้น แต่ยังสามารถเข้าถึงการรักษาได้   อย่างไรก็ดีสิทธิการรักษาของแต่ละกองทุนจะมีความแตกต่างกัน   จึงทำให้ผู้ป่วยแต่ละสิทธิเข้าถึงการให้บริการไม่เหมือนกัน    ดังนั้นนโยบายของรัฐบาลจึงมีแนวทางบูรณาการโรคไตเรื้อรังให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทุกกองทุนสุขภาพ  ในส่วนของ สปสช. นั้น ก็ได้เห็นชอบในหลักการที่จะบูรณาการระบบบริการให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

สำหรับการเข้าถึงยาและการสนับสนุนการดูแลภาวะโรคร่วมของผู้ป่วยโรคไต สปสช. ยังคงมุ่งมั่นยึดหลักในการช่วยเหลือประชาชนในการเข้าถึงยา ที่ใช้ในการรักษาโดยไม่มีภาระค่าใช้จ่าย นโยบายด้านยาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การบริหารจัดการยาโดยรวมของ สปสช. แบบรวมศูนย์ ส่งผลให้เกิดการต่อรองราคายาอย่างสมเหตุสมผล ไม่เพียงแต่ช่วยประหยัดด้านงบประมาณให้กับประเทศ ประมาณ7-8 พันล้านบาทแล้ว นอกจากนี้ ยังช่วยลดภาระค่ายาที่มีราคาแพงให้กับโรงพยาบาลที่ต้องดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ต้องใช้ยาเหล่านี้ ส่งผลให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึง และทำให้ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้าน น.อ.หญิง พญ.วรวรรณ ชัยลิมปมนตรี ประธานคณะอนุกรรมการป้องกันโรคไตเรื้อรัง สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง  เมื่อมีผู้ป่วยโรคไตในประเทศไทยและมีผู้มีภาวะเสี่ยงมากกว่า 20 ล้านคนทั่วประเทศ มีการป่วยเป็น“โรคไตเรื้อรัง” เพิ่มสูงขึ้นและมีอายุน้อยลงทุก ๆปี  ทำให้ภาครัฐและประชาชนที่ป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังต้องมีค่าใช้จ่ายสูงมากขึ้น  เมื่อเป็นแล้วต้องรักษาตลอดชีวิต แต่เราสามารถเลี่ยงความทรมานนี้ได้ เพราะโรคนี้ป้องกันได้โดยการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อค้นหาสิ่งปกติในร่างกาย หากพบสัญญาณความผิดปกติที่เกิดขึ้น เช่น 1. ปัสสาวะผิดปกติ เช่น สีผิดปกติ มีลักษณะเหมือนน้ำล้างเนื้อ หรือสีเข้มกว่าปกติ ปัสสาวะมีฟองมาก   2. ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะตอนกลางคืนที่ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ 3-4 ครั้งขึ้นไป 3. ปัสสาวะแสบขัด กะปริบกะปรอย 4. มีอาการปวดหลัง ปวดเอว อาจมีความผิดปกติบริเวณนิ่วในไต ไตอักเสบ และ 5. มีความดันโลหิตสูงขึ้น ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยโดยทันที