“ไมเนอร์ ฟู้ด” ลุยตลาดครึ่งปีหลัง เดินหน้าพัฒนาร้านอาหารครบวงจรรับวิถีใหม่

บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ประกาศเปิดเผยแผนกลยุทธ์ครึ่งปีหลัง พ.ศ. 2563 ด้วยการเพิ่มรายได้ผ่านการพัฒนาด้านต่าง ๆ อาทิ ยกระดับการบริการด้านเดลิเวอรี่ การพัฒนาเมนูใหม่ ๆ เพื่อดึงดูดผู้บริโภค การสร้างโมเดลร้านรูปแบบคีออส ให้บริการแกร็บแอนด์โกที่เข้ากับวิถีชีวิตคนเมือง การพัฒนา “Cloud Kitchen” โมเดลครัวกลาง และการพัฒนาการดำเนินงานและกระบวนการจัดซื้อสรรหาวัตถุดิบเพื่อให้เกิดการควบคุมต้นทุนที่มีประสิทธิภาพและการประยุกต์ใช้นวัตกรรม ปัจจุบัน ร้านอาหารของไมเนอร์ ฟู้ดในประเทศไทยกลับมาเปิดให้บริการแล้ว 95% โดยทุกร้านได้รับการยกระดับมาตรฐานสุขอนามัย ความสะอาดกับความปลอดภัยของทั้งลูกค้าและพนักงานภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อันเข้มงวด พร้อมเครื่องมือทำความสะอาดจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขอนามัยระดับสากล

มร. ดิลลิป ราชากาเรีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT และรักษาการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไมเนอร์ ฟู้ด กล่าวว่า กลุ่มไมเนอร์ ฟู้ด เป็นหนึ่งในกลุ่มบริษัทร้านอาหารที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย โดยแบรนด์ร้านอาหารที่เป็นที่รู้จักได้แก่ The Pizza Company, Swensen’s, Sizzler, The Coffee Club, Dairy Queen, Burger King และ Bonchon รวมมากกว่า 2,200 ร้านใน 26 ประเทศ ซึ่งตอบโจทย์ลูกค้าหลากหลายประเภทได้อย่างครอบคลุม ซึ่งบริษัทมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนองค์กรให้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรมร้านอาหารและท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกอยู่เสมอ ด้วยการสร้างความแข็งแกร่งของแบรนด์ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และการปรับการดำเนินงานเพื่อให้มีการพัฒนาประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไมเนอร์ ฟู้ดจึงเร่งปรับตัวพัฒนาองค์กร การที่บริษัทฯกระจายการลงทุนช่วยลดความรุนแรงของผลกระทบได้ดี ธุรกิจบริการจัดส่งอาหาร หรือเดลิเวอรี่ และบริการซื้อกลับบ้านมีการเติบโตขึ้น ได้รับความนิยมสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในขณะที่บริการนั่งร้านหยุดชะงักชั่วคราว เมื่อหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย เริ่มสามารถควบคุมสถานการณ์ได้  ร้านอาหารของไมเนอร์ ฟู้ดในประเทศไทยก็กลับมาเปิดให้บริการร้อยละ 95 ของสาขาร้านอาหารทั้งหมด 1,490 แห่งทั่วประเทศ โดยนับตั้งแต่กลับมาเปิดสาขา ยอดขายของแบรนด์ส่วนใหญ่ปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ และบางแบรนด์แสดงแนวโน้มของยอดขายที่สูงกว่าระดับก่อนการระบาดของโควิด-19 ด้วยซ้ำ โดยบริษัทยังคงมุ่งเน้นไปที่นโยบายการผลักดันการขายผ่านทุกช่องทาง  

สำหรับการดำเนินในต่างประเทศนั้นมีการฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเทศจีนซึ่งกว่าร้อยละ 90 ของสาขาร้านอาหารทั้งหมดได้เปิดให้บริการตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม และมีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจากสถานการณ์โรคระบาดที่คงที่และปรับตัวดีขึ้น โดยยอดขายมีการปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับในทุกสัปดาห์ และกลับมามีกำไรในระดับร้านสาขาในเดือนพฤษภาคม โดยคาดว่าการดำเนินงานในประเทศจีนจะฟื้นตัวสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤตภายในช่วงต้นเดือนสิงหาคม

ด้าน นายประพัฒน์ เสียงจันทร์ รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไมเนอร์ ฟู้ด ได้เสริมความพร้อมของการดำเนินงานในครึ่งปีหลัง 2563 ประกอบไปด้วย

  • ยกระดับบริการเดลิเวอรี่ เพื่อความแข็งแกร่งในฐานะบริษัทที่มีบริการการส่งอาหารแบบเดลิเวอรี่เป็นรายแรก ๆ ในประเทศไทย และยังเป็นผู้นำมาตลอดเกือบ 30 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 ไมเนอร์ ฟู้ดจะรักษาตำแหน่งผู้นำนี้ด้วยการเร่งมือเปลี่ยนแปลงรูปแบบองค์กรโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีส่วนร่วม ผ่านการพัฒนาแพลตฟอร์มการสั่งอาหารออนไลน์ ตามวิถีชีวิต New Normal ที่ผู้บริโภคหันไปพึ่งพาเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกผู้บริโภคให้สามารถสั่งอาหารได้หลากหลายภายในออเดอร์เดียว การที่มีแพลตฟอร์มสั่งอาหารเดลิเวอรี่เป็นของตัวเอง ก็ช่วยลดค่าใช้จ่ายและสร้างฐานข้อมูลลูกค้าให้กับองค์กรได้อีกด้วย และที่สำคัญ แพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ก็ยังเป็นที่รู้จักและจดจำกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งในไตรมาสสองที่ผ่านมา บริษัทมียอดขายเดลิเวอรี่โตขึ้นถึงสามเท่าจากช่องทางเดียวกันของปีก่อน
  • พัฒนาเมนูใหม่ ๆ เพื่อดึงดูดผู้บริโภค ผ่านการนำผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แล้วมาพัฒนาทางด้านนวัตกรรมให้เกิดผลิตภัณฑ์เช่นใหม่  เช่นการพัฒนา เมนู มะม่วง แบล็ค ดูโอ้ ไอศกรีมมะม่วงอกร่องทองพร้อมกับเครื่องเคียงอย่างข้าวเหนียวดำ หรือมะพร้าวอ่อนที่ล้วนเป็นผลิตภัณฑ์ที่สเวนเซ่นส์มีอยู่แล้ว แต่เมื่อนำมาผสมผสานกันก็สามารถสร้างความตื่นตาตื่นใจให้ผู้บริโภคได้ รวมถึงการใช้ช่องทางการตลาดที่มีประสิทธิผล เช่นการพัฒนาสินค้าตัวใหม่ หรือการออกแคมเปญการตลาดที่มีความสร้างสรรค์ ดึงดูดลูกค้าได้ดี จุดประสงค์ของแผนนี้คือเพื่อเพิ่มความสามารถในการทำกำไรให้กับบริษัท
  • โมเดลร้านรูปแบบคีออส  เป็นการให้บริการแกร็บแอนด์โกที่สามารถสร้างรายได้ โดยจะตั้งร้านอยู่ใกล้กับความสะดวกของผู้บริโภคมากขึ้น อาทิ สถานที่ทำงาน รถไฟฟ้า ฯลฯ  โดยตัวอย่างร้านที่ดำเนินโมเดลลักษณะนี้แล้ว ได้แก่  ซิซซ์เลอร์ ทูโก ร้านอาหารรูปแบบคีออสที่ตั้งอยู่ติดย่านธุรกิจในเมืองกรุง มาพร้อมกับตัวเลือกเมนูเพื่อสุขภาพจากผักสดอุดมด้วยวิตามินและแร่ธาตุ อีกทั้งยังประกอบด้วยแหล่งโปรตีนคอเลสเตอรอลต่ำ ซึ่งนอกจากร้านรูปแบบคีออส ร้านอื่น ๆ เช่น เดอะ คอฟฟี่ คลับ ก็ผลักดันบริการแกร็บแอนด์โก เช่นกัน
  • พัฒนา “Cloud Kitchen” โมเดลครัวกลางรูปแบบใหม่ให้บริการที่ สะดวก ใกล้บ้าน จากการนำเอาคอนเซ็ปต์ Cloud มาประยุกต์ใช้กับร้านอาหาร เกิดเป็น Cloud Kitchen ซึ่งแพลตฟอร์มนี้ช่วยให้ลูกค้าที่สั่งอาหารแบบเดลิเวอรี่ ได้รับอาหารรวดเร็วขึ้น สดร้อนเหมือนมีเชฟมาปรุงให้ที่บ้าน ด้วยที่ตั้งสาขาใกล้บ้านในระยะ 3 กิโลเมตร อีกทั้งสามารถสั่งอาหารได้หลายแบรนด์ ภายในออเดอร์เดียว เพื่อให้มั่นใจได้ถึงความสดใหม่ของอาหารที่จำหน่าย ทั้งนี้ ไมเนอร์ ฟู้ดประมาณการไว้ว่า Cloud Kitchen จะช่วยทำให้บริการเดลิเวอรี่ของไมเนอร์ ฟู้ดครอบคลุมมากขึ้น โดยเฉพาะในย่านชุมชน  

อย่างไรก็ตามเพื่อยกระดับมาตรฐานสุขอนามัยกับความปลอดภัยของทั้งลูกค้าและพนักงานภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ไมเนอร์ ฟู้ดจึงได้ตั้งโปรเจค “Business Beyond COVID” ด้วยอบรมพนักงานด้านการให้บริการที่สะอาดอย่างเข้มข้นขึ้น โดยให้คำนึงถึงความปลอดภัยและสุขอนามัยเป็นหลัก ผ่านแคมเปญรักษาความปลอดภัยของอาหาร ได้แก่ “Zero Touch Delivery” “Safety Seal” และ “Easy Pick Up” ของเดอะ พิซซ่า คอมปะนี หรือการจ่ายไร้เงินสดเมื่อสั่งอาหารในร้านเบอร์เกอร์ คิง นอกจากนั้น ธุรกิจในเครือมีการใช้เครื่องทำความสะอาด และน้ำยาทำความสะอาด จากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขอนามัย อีโค่แล็บ (ECOLAB) กับไดเวอร์ซี่ (Diversey) ซึ่งต่างเป็นเครื่องมือทำความสะอาดคุณภาพสูงที่ออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อใช้ในธุรกิจบริการอาหาร การแปรรูปอาหาร โรงแรมและงานดูแลสุขภาพ